- Details
- Written by ดร.อรวรรณ อรุณพลังสันติ
ที่มา
ปัจจุบันการทำงานในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท สำนักงาน รวมถึงสถานศึกษาต่างๆ พนักงานและบุคลากรแต่ละคนล้วนมีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง อีกทั้งยังต้องทำงานพร้อมกันหลายอย่างเช่น การเช็กข้อมูล e-mail กล่องข้อความใน facebook สื่อสารกับลูกค้าผ่าน Line จัดทำเอกสารในโปรแกรม Word โปรแกรม Excel หรือ ทำpresentation ด้วยโปรแกรม powerpoint เป็นต้น ซึ่งการที่บุคลากรแต่ละคนที่มีทักษะการทำงานได้หลายๆอย่าง (Multitasking skills) แม้ว่าดูเหมือนว่าจะเป็นคุณสมบัติที่ดีในการทำงาน คือทำให้องค์กรลดต้นทุนได้ แต่ในระยะยาวแล้วมีผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงประสิทธิผลของงานจะลดลง
หลักการพอสังเขป
การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันนั้น มีผลต่อการทำงานของสมอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญได้ทำการศีกษาไว้ว่า การที่สมองต้องทนกับสภาวะที่ซับซ้อน คิดและประมวลผลอย่างรวดเร็วตลอดเวลา สมองกลีบหน้าจะมีความต้องการให้เลือดไหลเวียนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลียง่ายกว่าปกติ และ ทำให้ระดับ IQ ลดลงถึง 15 จุดหรือเทียบเท่ากับการสูบกัญชา หรือ การอดนอนมาทั้งคืน และมีผลต่อความหนาแน่นของเซลล์ประสาทในสมองส่วนที่ควบคุมการหยั่งรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก และการควบคุมอารมณ์ตนเอง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะ สมาธิสั้น หลงลืมบ่อย อีกด้วย
David E. Meyer นักวิทยาศาสตร์ด้าน cognitive และหัวหน้าศูนย์วิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับสมอง การระลึกรู้ และการกระทำ ในมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่า Multitasking จะทำให้เราทำอะไรได้ช้าลง และมีโอกาสทำผิดพลาดสูงขึ้น ในการประมวลข้อมูลของสมองนั้น การที่ถูกรบกวนหรือถูกขัดจังหวะ จะทำให้ส่งผลเสียต่อกระบวนการนี้โดยตรง
Rene' Marois นักประสาทวิทยา และหัวหน้าศูนย์วิจัย ที่ศึกษาเรื่องการประมวลข้อมูลของมนุษย์ในมหาวิทยาลัย Vanderbilt กล่าวเสริมว่า ถึงแม้ว่าสมองคนเราจะมีเซลล์ประสาทเป็นล้านเซลล์ และมีการเชื่อมโยงกันหลายร้อยล้านล้านเส้น ก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถจดจ่อได้สองสิ่งในคราวเดียว จากการทดลองครั้งหนึ่งพบว่า การดีเลย์เกิดขึ้นจริง เมื่อผู้ถูกทดสอบต้องทำสองสิ่งภายในคราวเดียวกัน
การวิจัยของสถาบัน for the Future of the Mind มหาวิทยาลัย Oxford ได้ทำการทดลองโดยการแบ่งกลุ่มคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอายุ 18-21 ปี และอีกกลุ่มหนึ่งอายุ 35-39 ปี โดยให้ทั้งสองกลุ่มแปลงภาพเป็นตัวเลขแบบง่ายๆภายใน 90 วินาที
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่อายุน้อยกว่าทำได้ดีกว่าอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อไม่มีอะไรรบกวน แต่เมื่อทั้งสองกลุ่มถูกรบกวนด้วยเสียงโทรศัพท์ และเสียงอื่นๆ ก็พบว่า ความแม่นยำและความเร็วของทั้งสองกลุ่มไม่ได้ต่างกันเลย
Martin Westwell รักษาการสถาบันได้ให้ความเห็นว่า คนที่สูงอายุกว่าจะคิดได้ช้ากว่า แต่เป็นเพราะว่ามีความฉลาดมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า จึงสามารถกันตัวเองออกจากการรบกวนและสามารถเลือกได้ว่าจะให้ความสนใจกับอะไร แต่ถึงกระนั้น เมื่อผลการวิจัยออกมาดังนี้ คุณ Westwell ซึ่งขณะนี้มีอายุ 36 ก็ได้เลือกที่จะเช็ก e-mail ถี่น้อยลง ด้วยเหตุผลที่ว่า การที่โดนรบกวนนั้น ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจริงๆ
ในการศึกษาอีกอันหนึ่ง พบว่า พนักงาน Microsoft กลุ่มหนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีกว่าจะกลับมาสู่งานจริงจังอย่างเช่นการเขียนรายงาน หรือการเขียนโปรแกรมได้เต็มที่ หลังจากที่ตอบ e-mail ซึ่ง 15 นาทีที่หายไป ใช้ไปกับการเตร็ดเตร่ดู e-mail หรือข้อความอื่นๆ หรือกระทั่งอ่านข่าวกีฬา ข่าวบันเทิง จนกว่าสมาธิจะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยของ Microsoft, Eric Horvitz และ Shamsi Iqbal จากมหาวิทยาลัย Illinois ผู้ร่วมกันศึกษาครั้งนี้ พบว่าคนเราถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่ายมากและใช้เวลามากในการกลับมาที่งานของตนเอง
สรุปแนวทางปฏิบัติ
จากผู้ใช้ facebook เพจ เล่นจนได้เรื่อง ได้นำเสนอถึง Multitasking และคำแนะนำจาก นพ สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทและสมอง และ ผู้เชี่ยวชาญโรคปวดศีรษะ อาจารย์แพทย์ ที่คณะแพทยศาสตร์และศูนย์โรคสมองภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นพ.ณัฐวัฒน์ งามสมุทร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คุณหมออกตรวจที่ รพ. สมิติเวช และ รพ. ยุวปราสาท ซึ่งดูจากภาพใน facebook ประกอบทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
การทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด ควรต้องจดจ่อและมีสมาธิกับงานที่ทำทีละงาน จัดลำดับความสำคัญ แต่ถ้าหากจำเป็นต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ควรฝึกทำงานในแบบที่ไม่ให้สมองทำงานหนักจนเกินไป ทั้งนี้นอกจากเพื่อให้งานมีผลลัพธ์ที่ดีแล้ว ยังเป็นการดูแลสุขภาพของตนเองในระยะยาวอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
[1] http://www.skillsolved.com/whats-happening-in-brain-when-people-multitask/
[2] https://www.blognone.com/node/4272
[4] https://www.facebook.com/pg/PlayActivist/photos/?tab=album&album_id=1616988915053253